โรคราดำในทุเรียน (Sooty mold)
โรคราดำในทุเรียน สาเหตุเกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น Cladosporium, Aureobasidium, Antennariella, Limacinula, Scorias, Capnodium, Tripospermum sp. และ Polychaeton sp. โดยเชื้อรา 2 ชนิดหลัง คือ Tripospermum sp. และ Polychaeton sp. ในเอกสารวิชาการองค์ความรู้เรื่อง "โรคทุเรียน" ของกรมวิชาการเกษตร ระบุเป็นเชื้อสาเหตุก่อโรคราดำในทุเรียน
ความสำคัญของโรค
โรคราดำ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในสวนทุเรียน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนในต้นทุเรียนที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ ความชื้นในทรงพุ่มสูงหรือสวนทุเรียนที่มีการระบาดของเพลี้ยบางชนิด ซึ่งสามารถพบโรคราดำได้แทบทุกส่วนของพืช เช่น ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ช่อดอก และผล เชื้อราสาเหตุโรคไม่ทำความเสียหายให้แก่ทุเรียนโดยตรง แต่จะลดการสร้างอาหารของใบจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงในใบที่มีราดำปกคลุม หรือหากพบราดำที่ผลจะทำให้ผลสกปรกไม่น่ารับประทานและจำหน่ายผลทุเรียนไม่ได้ราคา
ปัจจัยก่อให้เกิดโรคราดำ
แม้สาเหตุการเกิดโรคราดำ จะเกิดจากเชื้อราตามที่กล่าวมาแต่ต้องเข้าใจว่า เหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคราดำหลักๆ มีหลายประการ
- ความชื้นภายในทรงพุ่มและความแน่นทึบของต้นทุเรียน
- การพ่นอาหารเสริมพวกน้ำตาลทางด่วนบ่อยครั้งเกินความจำเป็น การตกค้างของน้ำตาลทางด่วนบนส่วนต่างๆ ของพืช จะเป็นแหล่งอาหารสำหรับการเจริญของเชื้อราเป็นอย่างดี
- การใช้กากน้ำตาลในปริมาณมากและบ่อยครั้ง การใช้กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายในปริมาณมากๆ เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์เชื้อดีบางชนิดพ่นทางใบ กากน้ำตาลและน้ำตาลทรายที่ตกค้างบนใบและส่วนอื่นของพืชจะเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราดำ
- เพลี้ยชนิดต่างๆ เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยเหล่านี้เมื่อดูดกินน้ำเลี้ยงภายในเนื้อเยื่อพืชและจะขับถ่ายมูลเหนียวที่มีรสหวาน หอม คล้ายน้ำผึ้ง จึงมีชื่อเรียกมูลดังกล่าว ว่า “Honeydew” เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของเชื้อราและมักพบราดำปรากฏร่วมด้วยเสมอ
โดยปัจจัยจากการพ่นน้ำตาลทางด่วนและเพลี้ยก่อให้เกิดโรคราดำบ่อยครั้งมากที่สุด
การแพร่ระบาดและการก่อโรค
โดยทั่วไปสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรคจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ (Air-borne fungi) เมื่อลมพัดพาสปอร์ไปตกบริเวณที่มีอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อราๆ จะสร้างเส้นใยไมซีเลียมและเจริญอยู่บนผิวใบ ลำต้น กิ่ง ช่อดอกหรือบนผลของทุเรียน โดยเส้นใยจะไม่เจาะแทรกเข้าสู่เนื้อเยื่อพืช เส้นใยที่เจริญจะเป็นเส้นใยสีดำแพร่ขยายออกด้านข้างทำให้มีลักษณะเป็นคราบเขม่าหรือผงฝุ่นสีดำขึ้นปกคลุมและมีการสร้างสปอร์สืบพันธุ์จำนวนมาก
หากความชื้นสัมพันธ์ในอากาศแห้งคราบราดำนี้ อาจจะแห้งตกสะเก็ดเป็นแผ่นและอาจหลุดออกจากฝนชะล้างในช่วงฤดูฝน แต่เชื้อราดำค่อนข้างยึดเกาะกับผิวพืชแน่นการชะล้างอาจทำให้คราบราดำหลุดออกเพียงบางส่วน
การเกิดราดำในระยะก่อนดอกบาน หากระบาดรุนแรงจะทำให้การติดผลลดลง
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งกิ่งและจัดทรงพุ่มในแปลงทุเรียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นการลดความชื้นสัมพันธ์ภายในทรงพุ่ม
- ไม่ควรพ่นน้ำตาลทางด่วนบ่อยครั้งเกินไป หากมีความจำเป็นต้องพ่นน้ำตาลทางด่วน ไม่ควรพ่นต่อเนื่องเกิน 2-3 ครั้ง และงดเว้นการพ่นน้ำตาลทางด่วนไปสักระยะ หรือราวๆ 30-45 วัน
- การพ่นเชื้อจุลินทรีย์เชื้อดีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง หากมีการใช้กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ ควรศึกษาอัตราการใช้กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายอย่างละเอียดและมีความระมัดระวังในการใช้
- หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ควรกำจัดด้วย เอเจนต้า (โพรฟีโนฟอส 50% EC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1B) อัตรา 30 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมอร์เล็ท (ไตรอะโซฟอส 40% EC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1B) อัตรา 30 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ พีไซด์ (ไดคลอวอส 50% EC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1B) อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยผสมร่วมกับ แอ็กบู (บูโพรเฟซีน 40% SC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 16) อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ทุกๆ 7-14 วัน หากพบการระบาดของเพลี้ยหอยหรือเพลี้ยแป้งรุนแรง ควรผสมไวท์ออยล์ หรือปิโตรเลี่ยม ออยล์ อัตรา 40-60 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมด้วย
เนื่องจากเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง มีมดเป็นพาหะนำไข่และตัวอ่อน (โดยเฉพาะตัวอ่อนระยะแรก : first instar crawler) ของเพลี้ยปีนป่ายขึ้นไปยังต่างๆ ของต้นทุเรียน โดยเฉพาะช่วงดอกบานของทุเรียน ป้องกันมดปีนขึ้นต้นก่อนระยะดอกบานหรือระยะอื่นๆ โดยหว่าน จีโกร (ฟิโพนิล 5% GR /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 2B) หว่านรอบโคนต้น
หรือใช้ผ้าชุบสารกำจัดแมลงพันรอบโคนต้น โดยผสม แอ็กบาริล (คาร์บาริล 85% WP /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1A) อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟีโนบูคาร์บ (ฟีโนบูคาร์บ 50% EC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1A) อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ คอมโปเนนท์-บี (สารเสริมประสิทธิภาพ) อัตรา 10-30 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร
หากพบการระบาดของเพลี้ยจักจั่น พ่นด้วย แอ็กบู อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ โกรไมท์ (อิมิดาโคลพริด 35% SC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A) หรือ แอ็กมิดา70 หรือ แอ็กมีแซม หรือ แอ็กมิพริด (อิมิดาโคลพริด 70% WG, ไทอะมีทอกแซม 25% WG หรือ อะซีทามิพริด 20% SP ตามลำดับ /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A) อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไฟว์โกร (ฟิโพรนิล 5% SC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 2B) อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟีโนบูคาร์บ (ฟีโนบูคาร์บ 50% EC /สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1A) อัตรา 30-40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุกๆ 7-10 วัน
- หากพบการแพร่ระบาดของโรคราดำ พ่นด้วย แอ็กวิล (เฮกซะโคนาโซล 5% SC /สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 3) อัตรา 30 มล. ต่อ น้ำ 20 ลิตร หรือ การัน หรือ แอ็กไลน์ (อะซอกซีสโตรบิน 25% SC หรือ ไพราโคสโตรบิน 25% EC ตามลำดับ /สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 11) อัตรา 10-15 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สโตรดี้ (อะซอกซีสโตรบิน 20%+ไดฟิโนโคนาโซล 12.5% SC /สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 11+3) อัตรา 10-15 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช ที่มีฤทธิ์สัมผัสด้วย เช่น โบแทรน 75 (ไดคลอเรน 75% WP /สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม 14) อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มาเฟอร์ หรือ เดซี่ (แมนโคแซบ 80% WP หรือ โพรพิแนบ 70% WP ตามลำดับ /สารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่ม M3) อัตรา 50-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุกๆ 7-10 วัน