โรคใบจุดสนิม หรือโรคจุดสาหร่าย

สาเหตุของการเกิดโรค เกิดจากสาหร่ายสีเขียว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cephaleuros virescens Kunze จัดเป็นสาหร่ายปรสิต มีลำดับอนุกรมวิธานอยู่ในอาณาจักรพืช Plantae อันดับ [ Order ] Trentepohliales วงศ์ [ Family ] Trentepohliaceae เป็นสาหร่ายที่อาศัยอยู่กึ่งบนบก (Subaerial) ประกอบไปด้วยเส้นใย filamentous cells เป็นสายยาวหรือแตกแขนง ramulus และรวมตัวเป็นเนื้อเยื่อ thallus สาหร่ายสกุลนี้ พบบนพืชอาศัยบริเวณใบ กิ่ง หรือผล

สาหร่ายปรสิตพืช C. virescens จะเจริญอยู่ภายใต้ชั้น cuticle เหนือชั้น epidermis ของพืช แม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อทุเรียนมากนัก แต่ก็มีผลเสียต่อทุเรียนอยู่บ้าง เช่น สาหร่ายปรสิตจะอาศัยน้ำและแร่ธาตุอาหารจากทุเรียน หลั่งสารทุติยภูมิที่เป็นพิษ สูญเสียพื้นที่สังเคราะห์ด้วยแสง ที่เกิดจากการบดบังของสาหร่ายปรสิตและใบทุเรียนมีอายุใบสั้นลงกว่าปกติ ใบหลุดร่วง

ลักษณะการทำลาย

สาหร่ายปรสิต ระยะที่เป็นสีขาวหรือสีเขียวจะต้องการแสงแดดในการดำรงชีวิต มีโครงสร้างเป็นเส้นใยยาวคล้ายเซลล์พืช เรียงต่อกันเป็นเส้นใยติดกันหลายเส้น ลักษณะของเส้นใยมีการเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ มีการแตกแขนงของเซลล์เจริญแผ่ออกจากจุดศูนย์กลางประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อเทียม ลักษณะจุดค่อนข้างกลม ส่วนระยะที่เป็นสีสนิมเหล็ก เป็นระยะของการเกิดสปอร์หรือระยะขยายพันธุ์ ลักษณะเป็นขุยคล้ายกำมะหยี่ การสืบพันธ์ มี 2 แบบ คือ 

  1. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (sporangia) สาหร่ายปรสิต​จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ zoospore บนก้านชูสปอร์ (Sporangiophores) ที่อยู่ด้านบน thallus การขยายพันธุ์สปอร์จะแพร่ไปตามลมและฝน
  2. การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (gametangia) พบส่วนขยายพันธุ์​นี้กระจายอยู่ใน thallus มีลักษณะเป็นถุงค่อนข้างกลมขนาดยาว 25-50 ไมครอน และกว้าง 5-35 ไมครอน พบอยู่แบบเดี่ยวๆ ใน Thallus หรือใต้ thallus มีสีเหลืองจนถึงสีส้มสด

สาหร่ายปรสิต แพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนหรือแหล่งปลูกที่มีความชื้นสูง ทรงพุ่มหนาทึบและมักเริ่มจากใบเก่าของฤดูกาลก่อนหรือใบแก่ที่อยู่ในทรงพุ่มด้านในก่อน

อาการเริ่มแรกของโรคใบจุดสนิม หรือโรคจุดสาหร่าย จะเป็นจุดเล็กๆ นูนเล็กน้อย มีสีขาวปนเทา จุดเล็กๆ เหล่านี้จะขยายใหญ่ขึ้นในสภาพความชื้นสูงและได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ เมื่อสาหร่ายแก่ขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวก่อน แล้วเป็นสีน้ำตาลแดงสนิม โรคใบจุดสนิม โรคใบจุดสาหร่ายนี้จะบดบังพื้นที่ใบสำหรับใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงและจะทำให้ใบเสื่อมอายุ ใบร่วงหล่นก่อนกำหนด ถ้าสาหร่ายปรสิตขึ้นตามกิ่งจะสร้างรากเทียมชอนไชเข้าไปในเปลือก​ทำให้กิ่งทรุดโทรม

การป้องกันกำจัด

          หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งจัดทรงพุ่มและตัดแต่งกิ่งแขนงภายในทรงพุ่มออก เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดความชื้นภายในทรงพุ่มและให้แสงส่องถึงและพ่นด้วย กำมะถัน 80% WG (สารป้องกัน​กำจัด​โรค​พืช​ กลุ่ม M02) อัตรา 80-100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรผสมสารจับใบหรือสารลดแรง​ตรึง​ผิว​ร่วมด้วยและพ่นอย่างน้อย 2-3​ ครั้ง ห่างกัน ทุก 7-10​ วัน

หากพบสวนทุเรียนอยู่ในพื้นที่ปลูกที่มีความชื้นสูงหรือฝนตกชุกตลอดทั้งปี เช่น พื้นที่ภาคใต้บนเขาสูง ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นประจำ จะช่วยลดการแพร่ขยายของโรคลงได้ เช่น แอ็กโซน (สารไดฟิโนโคนาโซน+โพพิโคนาโซล 15+15% EC) อัตรา 10-15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีฤทธิ์สัมผัส เช่น โบแทรน 75 (ไดโคลเรน 75% WP) อัตรา 10-15 กรัม, มาเฟอร์ (แมนโคเซบ 80% WP) หรือเดซี่ (โพรพิเนบ 70% WP) อัตรา 50-60 กรัม, หรือ แอ็กซ่า (สารคาซูกะมัยซินไฮโดรคลอไรด์ไฮเดรต) 2% SL อัตรา 60-80 ซีซี. อัตราผสมต่อน้ำ 20 ลิตร

        * อัตราผสมสารอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพพื้นที่การเพาะปลูกและความต้านทานต่อสารของเชื้อสาเหตุโรคพืช

 


จำนวนผู้เข้าชม : 1888495 ครั้ง

แผนผังเว็บไซต์